วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วิวัฒนาการหุ่นยนต์

เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์คิดว่าคนส่วนใหญ่คงจะคิดถึงประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันประเทศไทยก็มีชื่อเสียงทางด้านหุ่นยนต์ไม่แพ้ประเทศใดในโลก เคยสงสัยไหมว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาเช่นไร
รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2503 จุดประสงค์ในการสร้างหุ่นยนต์คือเพื่อลดความเสี่ยงของคนงานที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมอันตราย เช่น มีฝุ่นมาก มีความร้อนสูง บริเวณที่มีสารเคมี หรือ สารกัมมันตภาพรังสี และให้หุ่นยนต์เข้าไปทำงานแทน 20 ปีแรกหลังการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขึ้น หุ่นยนต์มีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ หลังจากนั้น 20 ปีมีการคิดค้นคอมพิวเตอร์ขึ้น ทำให้หุ่นยนต์มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากมนุษย์สามารถนำสิ่งที่คิดค้นได้นั้นมาพัฒนาเป็นโปรแกรมและนำกลับเข้าไปในหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้นในช่วงที่หุ่นยนต์มีการพัฒนาในระยะเวลา 20-30ปีนั้นหุ่นยนต์มีความฉลาดและมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นประมาณ 30 ปี หุ่นยนต์ก็มีความฉลาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์คิดโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา เช่น การคิด intelligence program ซึ่งโปรแกรมนี้ทำให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้เองได้ ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หุ่นยนต์จะต้องรอฟังคำสั่งจากมนุษย์เท่านั้น หลังจากที่มนุษย์สามารถคิดค้นโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ขึ้น หุ่นยนต์สามารถค้นคว้าหาความรู้จากสิ่งที่มนุษย์ป้อนให้ได้ ฉะนั้นในบางเรื่องที่หุ่นยนต์ไม่รู้หุ่นยนต์จะนำไปคิด และนำความคิดเหล่านั้นมาปฏิบัติเองได้
เทคโนโลยีหุ่นยนต์เริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณปี พ.ศ.2503 เนื่องจากมีความต้องการที่จะสร้างกลไกเพื่อช่วยทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะในโรงงานอุตสาหกรรมมีสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างอันตราย มนุษย์จึงคิดว่าน่าจะมีแขนกล ขากลช่วยในการทำงาน แต่การสร้างหุ่นยนต์ประสบความสำเร็จสูงสุดที่ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้หุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมต่างๆจำนวนมาก ปัจจุบันประชากรหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่นมีกว่า 40 ล้านตัว
TIPS หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1954 โดย George Devol วิศวกร ชาวสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่สามารถคิดค้นประดิษฐ์แขนของหุ่นยนต์อย่างง่ายที่สามารถเคลื่อนไหวและทำงานตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ใช้ประโยชน์ในงาน อุตสาหกรรม จากจุดนี้เองที่ทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น