วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รมว.วิทย์ฯ เป็นประธานเปิดตัวหุ่นยนต์ไทยตัวแรกที่ผลิตเชิงพาณิชย์ โดยทีมวิศวกรไทยและเปิดตัวบริษัท CT






ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์ต้นแบบตัวแรกของไทยที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ชื่อหุ่นยนต์ CT ผลิตโดยวิศวกรไทย และเปิดตัวบริษัท CT Asia Robotics จำกัด โดยมี ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สนช.) , คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท CT Asia Robotics จำกัด และคณะผู้บริหารร่วมงาน ณ ห้อง Ballroom 3 โรงแรม Conrad เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเปิดตัวของบริษัท CT Asia Robotics จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์ไทยตัวแรกโดยทีมวิศวกรไทย โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบของไทยเพื่อการพาณิชย์ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการสร้างความตื่นตัวให้กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเป็นอย่างมาก หลังจากที่นักศึกษาไทยหลายสถาบันคว้ารางวัลแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ตลอดระยะเวลา 4- 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นการสร้างตลาดใหม่ รายได้ใหม่ และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมไฮเทค ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ดำเนินการผ่าน สนช. ในการให้การสนับสนุนโครงที่จะก่อให้เกิดการเร่งสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เชื่อมโยงผลงานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเอกชน ผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ จากผลงานวิทยาศาสตร์ให้เร็วที่สุดด้วยเหตุผล 3 อย่างคือ 1. ทำอย่างไรที่จะลดต้นทุน 2. เพื่อเพิ่มมูลค่า 3. สามารถนำไปแข่งขันได้ ดังนั้น เป็นที่น่ายินดีว่าในวันนี้นโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นความจริง และในขณะนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือ กรอ.วท. เพื่อเป็นกลไกผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือ กรอ.วท.นี้ ประกอบด้วยผู้แทนจาก NGO ผู้แทนจาก SME ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนจากหอการค้าไทย องค์กรหน่วยงานต่างๆ มาทำวิจัยพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน
ด้าน ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช.) กล่าวว่า สนช. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาต่อยอดให้เกิด
ธุรกิจนวัตกรรม โดย สนช.สนับสนุนโครงการนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ ของบริษัท CT Asia Robotics จำกัด ซึ่งประเทศไทยต้องการผู้ประกอบการที่สามารถซึมซับและขยายองค์ความรู้ให้ออกมาเป็นสินค้า ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สินค้าสร้างสรรค์” การออกแบบเชิงนวัตกรรม ถือว่าเป็นเครื่องมือในการแปรรูปความคิดทั้งด้านศิลปะและเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยนั้นถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะสามารถสร้างฐานรายได้ใหม่ ซึ่งจะสอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำนักงานนวัตกรรมฯ กำลังขับเคลื่อนกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนพื้นฐานของเทคโนโลยี
ด้านนายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท CT Asia Robotics จำกัด กล่าวว่า บริษัท CT Asia Robotics จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นบริษัทแนวหน้าของคนไทยในเวทีธุรกิจหุ่นยนต์ของโลก โดยการพัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ รองรับความต้องการของตลาดที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งงาน
บริการในร้านอาหาร และงานส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด อาทิ งาน Event ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับแผนการทำตลาดหุ่นยนต์ไทยตัวแรก (หุ่นยนต์ CT )ที่ผลิตขึ้นจะนำไปใช้ในการเสริฟอาหารของลูกค้า โดยกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าคือ กลุ่มลูกค้าที่ใช้งานหุ่นยนต์ในการสร้างสีสันนอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ตัวที่สองเพื่อรองรับงานส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ด้วย
การทำตลาดหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท CT Asia Robotics จำกัด มุ่งเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศโดยการพัฒนาหุ่นยนต์ของบริษัทจะทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทำงานและผู้สูงอายุ ส่วนแผนระยะยาวบริษัทตั้งเป้าเจาะตลาดหุ่นยนต์ญี่ปุ่นภายใน 3 ปี สำหรับหุ่นยนต์ไทยตัวแรกซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิตจะสามารถนำไปใช้จริงได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2553 และบริษัทมีแผนที่จะนำหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยทีมวิศวกรไทยไปโชว์ในงาน Robot Expo ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2553

ซีทีฯชูหุ่นยนต์เอ็ดดูเทนเมนต์

ซีที เอเชียโรโบติกส์ ได้ฤกษ์ เปิดตัวหุ่นยนต์บริการเสิร์ฟอาหาร หลังสุกี้ เอ็มเค ทุ่ม 10 ล้าน สั่งซื้อให้บริการ วางแผนคลอดหุ่นยนต์เอ็ดดูเทนเมนต์ออกมาประมาณกลางปีหน้า พร้อมวางแผนระยะยาว 3 ปี ส่งออกหุ่นยนต์บริการดูแลคนชรา-เด็ก เจาะตลาดแดนปลาดิบ นายเฉลิมพล ปุณโณทก กรรมการผู้จัดการ บริษัทคอมพิวเตอร์ เทเลโฟนี่ เอเชีย จำกัด หรือ ซีทีเอเชีย จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ได้เปิดตัวบริษัทลูก คือซีทีเอเชีย โรโบติกส์ จำกัด อย่างเป็นทางการ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกในไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยแผนธุรกิจระยะสั้นนั้นได้พัฒนาหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ถ่ายรูป ร้องเพลงวันเกิด ให้กับสุกี้ เอ็มเค ซึ่งมียอดการสั่งซื้อเบื้องต้น 10 ตัว มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท "หุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า หุ่นยนต์ซีที (CT) มีคุณสมบัติพิเศษให้บริการรับคำสั่งด้วยเสียงอัตโนมัติ สื่อสารกับมนุษย์ได้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ กับภาษาไทย เคลื่อนที่ด้วยล้อได้รอบทิศทางในพื้นราบด้วยพลังงานแบตเตอรี่อยู่ได้นาน 3 ชั่วโมง สามารถยกสิ่งของได้ไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม พัฒนาขึ้นมาโดยวิศวกรคนไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย อย่างไรก็ตามทางเอ็มเค จะเปลี่ยนชื่อหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็น "ดินสอ" เพื่อให้บริการเสิร์ฟอาหารภายในร้าน" ขณะที่แผนธุรกิจระยะกลางนั้นได้เตรียมพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้ และความบันเทิง (Edutainment) ออกมาสู่ตลาดประมาณกลางปีหน้า ส่วนแผนระยะยาวนั้นได้วางเป้าหมายพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลคนสูงอายุและเด็ก ออกไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ตลาดหุ่นยนต์มีแนวโน้มเติบโตสูง จากการประเมินของสมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นระบุว่า ปี 2568 ตลาดหุ่นยนต์ทุกประเภทจะมีมูลค่ารวม 66,400 ล้านเหรียญ ในจำนวนนี้ตกเป็นของหุ่นยนต์บริการประมาณ 50,000 ล้านเหรียญ ขณะที่สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจของไต้หวัน คาดการณ์ว่าตลาดหุ่นยนต์ทุกประเภทจะมีมูลค่ารวมมากกว่ามูลค่าตลาดรถยนต์ทั้งโลก
ส่วนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้บริการ ใช้งานตามบ้าน ยังมีโอกาสเติบโต โดยยังไม่มีผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ โดยคาดว่าแต่ละปีตลาดมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท นายเฉลิมพล กล่าวต่ออีกว่าในส่วนของรายได้นั้นบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ของไทยขึ้นมาแข่งขันในเวทีโลก อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปีหน้าธุรกิจดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ทั้งนี้ในการพัฒนาหุ่นยนต์บริการนั้นบริษัทมีแผนลงทุนทั้งหมดราว 50 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 1 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบวิจัยและพัฒนา รวมถึงการตลาดราว 20 ล้านบาท

เที่ยวสัปดาห์วิทย์ดูโลกร้อนผจญภัยป่าจุลินทรีย์-หุ่นยนต์ญี่ปุ่น

ก.วิทย์ชูภาวะโลกร้อนประเด็นหลักในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ มุ่งเผยแพร่ความรู้ให้เยาวชนตระหนักถึงอันตรายจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น และแนวทางชะลอหายนะดังกล่าวผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ อาทิ อุโมงค์พลังงาน ต้นไม้จำลอง และสุริยะฟิสิกส์ พร้อมทั้งผจญภัยในป่าจุลินทรีย์และชมหุ่นยนต์จากญี่ปุ่น
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงอนุมัติงบประมาณ 80 ล้านบาท จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 เน้นนำเสนอข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน เช่น สาเหตุที่ทำให้อากาศร้อนขึ้นทั้งจากมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ พร้อมนำเสนอวิธีการช่วยเหลือ หรือชะลอการเกิดหายนะครั้งนี้ให้มาถึงช้าที่สุด
ตัวอย่างซุ้มกิจกรรม เช่น กิจกรรมเติมฝัน สานจินตนาการ ชะลอสภาวะโลกร้อน ซึ่งนำต้นไม้จำลองสีขาวมาเป็นอุปกรณ์ให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดจินตนาการหรือวิธีการที่จะชะลอการเกิดภาวะโลกร้อน กิจกรรมอุโมงค์พลังงาน ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดในโลกมาให้เยาวชนเรียนรู้ เช่น พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ที่กำลังจะหมด พลังงานทดแทน เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแห่งอนาคต เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโซนความรู้วิทยาศาสตร์ เช่น สุริยะฟิสิกส์ นาโนเทคโนโลยี การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากว่าว รวมทั้งกิจกรรมการผจญภัยในป่าจุลินทรีย์ ในรูปแบบห้องปฏิบัติการจำลอง ซึ่งจะนำตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์มาให้ส่องกล้องดูด้วยตัวเอง กิจกรรมสื่อสาธิตเรื่องแสงและคุณสมบัติของแสง การทดลองโฟมหายด้วยสารสกัดจากเปลือกมะนาว ภายในงานยังมีกิจกรรมประชันความสามารถ อาทิ แข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ 2550 เครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย
มหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์มีประเทศพันธมิตรตอบรับที่จะส่งเทคโนโลยีร่วมแสดงบ้างแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน อังกฤษ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส กิจกรรมที่นำเข้ามาแสดงจะเน้นไปที่หุ่นยนต์ เครื่องมือกล อุปกรณ์ตรวจสอบภัยธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งล้วนอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วโลก รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
มหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์กำหนดจัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคมนี้

นิยายหุ่นยนต์

หุ่นยนต์อีกกลุ่ม ที่คนไทยคุ้นเคยก็คือ หุ่นยนต์ในการ์ตูนญี่ปุ่น ที่เริ่มจากหนังสือการ์ตูน แล้วก็กลายไปเป็นหนัง
หุ่นยนต์ญี่ปุ่นที่เคยฮือฮาช่วงแรก ๆ ก็คือ Astro Boy (พ.ศ. 2494) ในชื่อภาษาไทยว่า เจ้าหนูอะตอม เขียนโดย โอซามุ เทซึกะ หุ่นยนต์เด็กในเรื่อง ตอนแรกต้องปกปิดตัวเอง แต่ ด้วยสถานการณ์ ก็ต้องใช้ความสามารถ ปกป้องอันตรายที่จะเกิดกับมนุษย์ เมื่อกลายเป็นหนังก็ ทำออกมาถึง 193 ตอน
การที่หุ่นยนต์ ต้องต่อสู้กับวายร้าย เพื่อปกป้องโลก เป็นแนวเรื่องหลักของการ์ตูนญี่ปุ่น หุ่นยนต์เหล่านั้นเช่น งานของโก นากาอิ เรื่อง Mazinger Z (หุ่นยนต์แซด พ.ศ. 2515) Great Mazinger (เกรทมาชินกา พ.ศ. 2517) Grendizer (เกรนไดเซอร์ พ.ศ. 2518) เมื่อเจ้าชายต่างดาว พลัดถิ่นมา ในหุ่นยนต์จานบิน และต้องสู้กับมนุษย์ต่างดาว หุ่นยนต์พวกนี้ ใช้คนบังคับหนึ่งคนใน ขณะที่การ์ตูนชุด เก็ตเตอร์ ใช้คนบังคับ 3 คน และเปลี่ยนร่างได้
สำหรับ Combata V (คอมแบตตาวี) เป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ที่ใช้คน 5 คน ร่วมบังคับ หุ่นยนต์ญี่ปุ่นยุคหลัง ๆ จึงเริ่มมีคนควบคุมเป็นทีม
นิยายวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่เป็นทั้งนิยาย และการ์ตูน เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ Ginga Tetsudo 999 หรือ Galaxy Express 999 ฉบับการ์ตูนมี 18 เล่ม จบราว ๆ ต้นทศวรรษ 1980 เขียนโดย เลจิ มัตซึโมโต เนื้อเรื่องกล่าวถึง สังคมที่มนุษย์จะอยู่รอดได้ ต้องดัดแปลงร่างเป็น ไซบอร์ก ทำให้ โฮชิโนะ เทซึรุ เด็กอายุราว 10 ขวบ ต้องโดยสารไปกับ ขบวนรถไฟ 999 เพื่อไป ดัดแปลงร่างที่ดาว แอนโดรมีดา

หุ่นยนต์บุกครัว ญี่ปุ่นโชว์พ่อครัวสมองกล

ในเมื่อญี่ปุ่นสามารถสร้างหุ่นยนต์ทำความสะอาด และหุ่นยนต์รินน้ำพร้อมเสิร์ฟ จะยากอะไรกับการพัฒนาหุ่นยนต์พ่อครัวที่สามารถทำอาหารได้ ญี่ปุ่นจัดแสดงหุ่นยนต์พ่อครัวหลายรุ่นในงานแสดงเทคโนโลยีและเครื่องจักรอาหารนานาชาติ FOOMA Japan International Food Machinery and Technology Expo ที่จัดขึ้นในโตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งหุ่นยนต์ทำพิซซ่าญี่ปุ่น "โอโคโนมิยากิ" และหุ่นยนต์ทำซูชิทีการันตีว่าสามารถจัดวางซูชิได้เป็นระเบียบเรียบร้อย หุ่นยนต์นักทำโอโคโนมิยากิถูกเรียกตรงตัวว่า Okonomiyaki Robot นาริโตะ โฮโซมิ ประธานบริษัทโตโยริกิ (Toyo Riki) ผู้ผลิตโอโคโนมิยากิโรบ็อทซึ่งมีสำนักงานในโอซาก้าให้สัมภาษณ์ว่า การพัฒนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการนำเทคโนโลยีจักรกลในโรงงานมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยโอโคโนมิยากิโรบ็อทสามารถยืนปรุงโอโคโนมิยากิหน้าเตาร้อนๆได้ สามารถคลุกเคล้าส่วนผสมในชามได้ไม่หกเลอะเทอะ ก่อนจะเทลงในกระทะร้อน สามารถทอดและกลับด้านโอโคโนมิยากิ พร้อมตักขึ้นจานเพื่อเสิร์ฟได้ ที่สำคัญ โอโคโนมิยากิสามารถถามได้ด้วยว่าต้องการซอร์สชนิดไหนหรือต้องการเครื่องปรุงอะไรเพิ่มเติม สำหรับหุ่นยนต์ที่สามารถจักเรียงซูชิได้ใช้ชื่อเรียบๆว่า Chef Robot ผลิตโดยผู้ผลิตเครื่องจักรด้านอาหารนามบาบะเทกโกโซ (Baba Tekkosho) ร่วมกับบริษัท FANUC ผู้ผลิตระบบจัดวางอาหาร M-430iA และบริษัท Scuse ผู้ผลิตหุ่นยนต์แขน type H ที่ถูกนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันจนกลายเป็นหุ่นยนต์แขนพ่อครัวที่สามารถจัดวางอาหารได้ไม่ต่างจากมนุษย์ ทั้งซูชิ หรือขนมเค้ก โดยสามารถระมัดระวังไม่ให้อาหารเสียหาย การโหมพัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นเป็นผลจากการเตรียมตัวรับมือปัญหาประชากรของประเทศ ที่เชื่อว่ากำลังจะเข้าสู่ยุคที่ประชากรผู้สูงวัยจะมีจำนวนมากกว่าวัยหนุ่มสาว หุ่นยนต์เหล่านี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาชีพแม่บ้าน ผู้ดูแล และพ่อครัวในอนาคต ซึ่งจะสามารถแบ่งเบาภาระของหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าจะมีจำนวนน้อยได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุด โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของหุ่นยนต์โลกที่มีอยู่กว่า 800,000 ตัวถูกพัฒนาโดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น คาดว่ามูลค่าตลาดหุ่นยนต์จะขยายตัวแตะระดับ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในเร็ววันนี้

ญี่ปุ่นเจ๋ง พัฒนาหุ่นยนต์เกษตรกร



ชุดหุ่นยนต์เกษตรกรนี้ถูกเรียกว่า Wearable Agrirobot เป็นผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการเกษตรโตเกียวหรือ Tokyo University of Agriculture and Technology ชุดต้นแบบมาในรูปหุ่นยนต์สวมใส่ได้ที่มีตัวช่วยผ่อนแรงเป็นมอเตอร์ 8 ตัวและเซนเซอร์อีก 16 จุด ชุดต้นแบบยังมีขนาดหนักอยู่มาก น้ำหนักราว 25 กิโลกรัม ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงวัยซึ่งปวดข้อปวดเข่าสามารถก้มหรืองอตัวเพื่อทำการเกษตรได้สะดวกขึ้น ชุดหุ่นยนต์นี้จะช่วยรองรับน้ำหนักตัวบริเวณกล้ามเนื้อขา ทำให้ผู้สูงวัยไม่ปวดเมื่อยง่าย โดยการสาธิตพบว่าผู้ที่สวมชุดหุ่นยนต์นี้สามารถดึงรากไม้จากดินหรือเอื้อมมือปลิดผลส้มได้โดยไม่ต้องเปลืองแรงมากเช่นปกติ นักวิจัยแดนปลาดิบบอกว่าต้องการพัฒนาชุดหุ่นยนต์การเกษตรนี้เพื่อจำหน่ายให้ได้ในช่วงเวลา 2-3 ปีต่อจากนี้ เชื่อว่าสนนราคาจะอยู่ที่ระหว่าง 500,000-1,000,000 เยน (ราว 150,000-300,000 บาท) นักวิจัยญี่ปุ่นเชื่อว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ซึ่งมนุษย์สวมใส่ได้จะถูกประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรมในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งมีโอกาสเติบโตสูง นักวิจัยเชื่อว่าโอกาสนี้ชัดเจนมากในญี่ปุ่น ซึ่งต้องหาทางป้องกันผลกระทบจากภาวะประชากร สูงวัยมีจำนวนมากกว่าวัยหนุ่มสาว เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปบางประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและไม่มีบุคลากรมากพอสำหรับทำการเกษตรด้วยมือ


"มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว






อดใจรอคอยกันพักใหญ่ว่ากองทัพหุ่นยนต์จากประเทศญี่ปุ่นจะมาร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 ทันกำหนดหรือเปล่า? ในที่สุดหุ่นยนต์เด็กชายขี่จักรยาน "มูราตะ" และหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ตั้งโต๊ะ ก็มาเปิดรอบการแสดงเรียกเสียงฮือฮาจากผู้มาร่วมงานน้อย -ใหญ่ไปบ้างแล้วในวันที่ 2 ของการจัดงาน หุ่นยนต์เด็กชายถีบจักรยาน "มูราตะ" (Murata) หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นคือ "มูราตะเซซัคคุง"เป็นหุ่นยนต์ขี่จักรยานสูง 50 ซม.น้ำหนัก 5 กก. ซึ่ง บ.มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตขึ้นแล้ว 3 ตัว (มูลค่าตัวละ 2.7 ล้านบาท) แต่ไม่ได้ทำออกจำหน่าย หุ่นยนต์มูราตะได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีการทรงตัวที่ดีด้วยอุปกรณ์ไจโรเซ็นเซอร์ (Gyro Sensor) สามารถตรวจหาเส้นทาง ขี่จักรยานไปข้างหน้าและถอยหลังได้ รวมทั้งสามารถขี่จักรยานไปบนทางเดินแคบๆ ลาดเอียง และคดเคี้ยวได้ อีกทั้งเมื่อเดินทางจนสิ้นสุดเส้นทางแล้วก็สามารถหยุดเคลื่อนไหวได้เองด้วย ส่วนหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ (Humanoid) แบบตั้งโต๊ะเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการอุตสาหกรรมแห่งชาติญี่ปุ่น (AIST) และถ่ายทอดให้แก่บริษัทเอกชนผลิตในเชิงพาณิชย์ หนึ่งในนั้นคือนายจิน ซาโต้ ผู้บริหารสูงสุดของ บ.เจเอส -โรโบติกส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้สร้างหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเท่าคนจริง มูลค่า 10.8 ล้านบาท ซึ่งรับคำสั่งให้ทำงาน เปิดประตูหรือหยิบของจากตู้เย็นโดยใช้เสียงสั่ง ทั้งนี้ เขายังได้พัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์รุ่นเอชอาร์พี -2 เอ็ม โคโรเม็ต (HRP -2M Choromet) หรือฮิวมานอยด์ตั้งโต๊ะ มูลค่า 200,000 บาท มาจัดแสดงด้วย โดยย่อขนาดมาจากฮิวมานอยด์ขนาดเท่าคนจริง ทำงานแบบทันท่วงที (เรียลไทม์) ด้วยการเขียนคำสั่งในโปรแกรมลินุกซ์ (Linux) เช่นเดียวกัน แต่ยังต้องมีสายไฟต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์เพื่อรับคำสั่งโดยตรง ฮิวมานอยด์ตั้งโต๊ะสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานศึกษาและวิจัย สูง 37 ซม. หนัก 1.5 กก.ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ตามจุดต่างๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งเซ็นเซอร์วัดการเร่งความเร็ว เซ็นเซอร์วัดมุมองศาบริเวณลำตัว และเซ็นเซอร์วัดแรงกระทบที่ฝ่าเท้า 2 ข้าง สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ อาทิ ต่อยมวย เตะ ต่อสู้ นอน นั่ง ยืน เดิน และทำท่าสะพานโค้ง ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ในส่วนนิทรรศการจากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำหุ่นยนต์แมวน้ำ "พาโร" เพื่อการบำบัด และเก้าอี้รถเข็นอัจฉริยะ มาร่วมจัดแสดงในงานด้วย ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมการแสดงของกองทัพหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นได้ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยการแสดงกองทัพหุ่นยนต์จะจัดแสดงเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายวันละ 6 รอบการแสดง

ญี่ปุ่น เผยโฉมหุ่นยนต์นางแบบ HRP-4C มาตีตลาดแคทวอล์ก



หลังจากได้ดูการเรียนการสอนของ หุ่นยนต์คุณครู Saya กันไปแล้ว คราวนี้ญี่ปุ่น เผยโฉมหุ่นยนต์สาวตัวล่าสุด "HRP-4C" หุ่นยนต์นางแบบ เป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่หุ่นยนต์สาวตัวนี้จะไปโพสต์ท่าทางบนแคทวอล์ก ในกรุงโตเกียว
สาวน้อยหน้าม้าคนเนี่ย เธอเพิ่งแสดงตัวเป็นครั้งแรกให้มนุษย์ได้เชยชม เธอเป็นหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ที่ทำเลียนแบบหญิงสาวชาวญี่ปุ่น หุ่นยนต์ตัวนี้สูง 158 เซ็นติเมตร ซึ่งเป็นส่วนสูงโดยเฉลี่ยของผู้หญิงญี่ปุ่นอายุระหว่าง 19-29 ปี แต่หนักเหมือนกับสาวผอมบางร่างน้อยเพียงแค่ 43 กิโลกรัม แถมรวมแบตเตอร์รี่แล้วด้วยนะเนี่ย
เธอถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นหุ่นยนต์นางแบบ และจากการทำงานของมอเตอร์ควบคุมการเคลื่อนไหว 40 ตัว และเซ็นเซอร์อีกหลายๆ ตัว ที่อยู่ในตัวเธอ เพื่อให้เธอสามารถเลียนแบบการเคลื่อนไหวของนางแบบที่มีเลือดเนื้อจริงๆ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถแสดงได้หลากหลายอารมณ์ เช่น โกรธ สนุก และประหลาดใจ ผ่านคำสั่งจากอุปกรณ์บลูธูท
ซึ่งทางสถาบันเจ้าของนวัตกรรมชิ้นนี้เผยว่า ใช้งบประมาณพัฒนาหุ่นยนต์ตัวนี้ไปมากกว่า 200 ล้านเยน หรือราว 72 ล้านบาท โดยหุ่นยนต์ตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมด้านบันเทิงเป็นหลัก แต่ตอนนี้ยังไม่มีการวางขายในตลาด
ทั้งนี้สาวน้อยหน้าม้า "HRP-4C" เธอจะมาทักายปรากฏตัวให้ได้เห็นโฉมหน้ากันอีกครั้ง ในงานโตเกียวแฟชั่นโชว์ในวันที่ 23 มีนาคมนี้

'หุ่นยนต์ในญี่ปุ่น'



ที่ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของเมจิ ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศญี่ปุ่น นายจุนอิจิ ทาเคโนะ และเพื่อนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำลังสร้างใบหน้าหุ่นให้แสดงความรู้สึกออกมา 6 อย่าง คือ โกรธ กลัว เศร้า สุข ตกใจและขยะแขยงเมื่อหุ่นยนต์ถูกป้อนข้อมูลของกลุ่มคำ ก็จะแสดงสีหน้าถึงคำนั้นๆ เช่น คำว่า "สงคราม" หุ่นก็จะแสดงสีหน้า "ขยะแขยง" และ "กลัว" เมื่อพูดคำว่า "รัก" หุ่นยนต์ก็จะยิ้มบางๆนายทาเคโนะ กล่าวว่า เมื่อหุ่นยนต์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ หุ่นยนต์ก็ต้องรู้จักการเข้าสังคม จึงจำเป็นต้องเข้าใจและรู้สึกถึงอารมณ์นั้นแม้ว่าหุ่นยนต์จะยังไม่เข้าถึงอารมณ์ที่มีความซับซ้อน แต่ญี่ปุ่นก็เข้าไปใกล้สังคมแห่งอนาคตที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันกับหุ่นยนต์ เต็มที เช่น ญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ต้อนรับแขกที่มายังบริษัทต่างๆ มีหุ่นยนต์ทำซูชิ หุ่นยนต์ปลูกข้าว หุ่นยนต์ดูแลคนชราแล้วในสังคมของชาวญี่ปุ่น การปฏิรูปหุ่นยนต์นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรเป็นคนชราอายุมากกว่า 65 ปี ญี่ปุ่นจึงเร่งโครงการ "ฮิวแมนนอยด์โรบอต" หรือ "มนุษย์หุ่นยนต์" ออกมาหลายโครงการ การพัฒนาเทคโนโลยีของหุ่นยนต์ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ โดยเมื่อพ.ศ. 2549 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีมูลค่า 5,200 ล้านเหรียญ คาดว่าพ.ศ. 2553 จะเพิ่มเป็น 26,000 ล้านเหรียญ และพ.ศ. 2568 จะเป็น 70,000 ล้านเหรียญที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นจะมีแง่คิดที่ดีต่อหุ่นยนต์ โดยเห็นว่ามันเป็นเพื่อน มากกว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่มีความรุนแรง ออกมาทำลายล้างอย่างที่ชาวตะวันตกนำมาสร้างในหนังไซน์ฟิกชั่น ด้านนายเดเมี่ยน ธง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ด้านเทคโนโลยี จากธนาคารแม็กไควรี กรุงโตเกียว กล่าวว่า "แม้ชาวญี่ปุ่นยังถามตัวเองว่า ต้องการให้หุ่นยนต์เข้ามาอยู่ร่วมบ้านไหม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีชักโครกไฟฟ้า ซึ่งต่อไปผมเห็นว่า จะต้องมีการปฏิรูปหุ่นยนต์เกิดขึ้นแน่นอน"นอกจากนี้ โรดแม็ปเทคโนโลยีแห่งชาติของกระทรวงพาณิชย์ประจำปี 2550 ยังระบุว่า ภายในพ.ศ. 2568 จะต้องมีหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม 1 ล้านตัว โดยหุ่นยนต์ 1 ตัว สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ 10 คน หุ่นยนต์ 1 ล้านตัวคือคน 10 ล้านคน นับเป็นคนวัยทำงาน 15% ในปัจจุบัน

หุ่นยนต์ญี่ปุ่นเจ๋ง! หยิบหลอดน้ำส่งให้ได้






ญี่ปุ่นคิดหุ่นยนต์ดูแลคนแก่ เด็ก คนพิการ และช่วยงานในบ้าน เจ๋งขนาดหยิบหลอดน้ำส่งให้ได้








สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ศาสตราจารย์ ไซเจกิ ซูกาโน คณะวิศวกรรมศาสตร์ แผนกการ ประดิษฐ์เครื่องจักรกลแห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะ ที่ญี่ปุ่น สาธิตการทำงานของหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ ทเวนดี้-วัน (Twendy-one) ที่ห้องทดลองวาซิดะ ในกรุงโตเกียว โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก และช่วยเหลืองานในบ้าน
สำหรับ Twendy-one ถูกออกแบบให้มี 4 นิ้วเพื่อช่วยในการหยิบจับ สามารถคีบขนมปังใส่เครื่องปิ้ง พยุงผู้ป่วย หยิบหลอด และยกถาดอาหารเสิร์ฟได้ สามารถเคลื่อนไหวได้ 47 ท่าติดตั้งกล้อง CCD 2 ตัวเพื่อใช้ในการมองภาพเพื่อประมวลผลการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ใช้แบตเตอรี่ในการให้พลังงาน มีความสูง 150 เซนติเมตร หนัก 111 กิโลกรัม
.

หุ่นยนต์ญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สมัยผมศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เคยเรียนถามศาสตราจารย์ซูซูกิ ว่าเหตุใดทั้งๆที่มีญี่ปุ่นความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีอย่างมาก จึงไม่สร้าง Space Shuttle ไปสำรวจอวกาศแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาบ้าง ท่านก็เอ็ดผมทันทีเลยว่าในฐานะวิศวกรนั้นคิดจะทำอะไรนั้นต้องคำนึงผลลัพท์ผลิตภาพทางอุตสาหกรรม(Industrial Productivity)ด้วย ด้วยเหตุนี่กระมังครับ หุ่นยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลกในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังเป็นรองจากประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศทางทวีปยุโรป ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อใช้ในสาขาอื่นๆนอกเหนือจากการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ การวิจัยใต้ทะเล การป้องกันพิบัติภัย และการใช้หุ่นยนต์ช่วยทางการแพทย์ข้อมูลจาก World Technology Evaluation Center, Inc. (WTEC) ระบุว่า บริษัท FANUC เป็นบริษัทผู้นำในการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น โดยครอง 17% ของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น 16% ของตลาดในทวีปยุโรป และ 20% ของตลาดในทวีปอเมริกาเหนือ สำหรับบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์บริการในประเทศญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยบริษัท Sony, Fujitsu และ Honda ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการขับเคลื่อนโดยความต้องการของตลาดในการใช้หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง หุ่นยนต์เพื่อน และหุ่นยนต์ให้ความช่วยเหลือทั้งนี้ ข้อมูลจาก Japan External Trade Organization (JETRO) ในปี 2006 ยังได้ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นที่จะมีการขยายตัวอย่างมาก คือตลาดหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยงานคนงานสูงอายุและแม่บ้าน เนื่องจากอัตราการเพิ่มประชากรในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ในอนาคตจึงคาดว่าจะมีช่วงหนึ่งที่โรงงานต่างๆจะขาดคนทำงาน และหุ่นยนต์ก็เป็นทางออกหนึ่งสำหรับปัญหานี้ นอกจากนี้ทาง JETRO ยังได้ให้ข้อมูลทางสถิติโดยแบ่งหุ่นยนต์เป็นสองประเภทใหญ่ๆคือ Interactive Robots กับ Manufacturing Robots ดังนี้1. Interactive Robotsทางรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการพัฒนาตลาดหุ่นยนต์ ในปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ที่สามารถโต้ตอบได้ (Interactive Robot) จำนวนมากที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีของวิทยาการหุ่นยนต์ที่ล้ำหน้า โดยที่ไม่มีประโยชน์ทางรูปธรรมอย่างอื่นที่ชัดเจน เช่น ASIMO ของฮอนด้า เป็นต้น

Posts Tagged ‘หุ่นยนต์ไทย’

เฉยเชยจริงๆเลยครับต้องยอมรับว่าตกข่าวอย่างมากเพราะเมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ ผมก็มักเห็นภาพ ASIMO ลอยมาแต่ไกลแถม version ล่าสุด ASIMO ก็สามารถวิ่งได้แล้วการวิ่งต่างจากเดินเร็ว ตรงที่ต้องขาลอยกลางอากาศพร้อมกันทั้งสองขามัวแต่ชื่นชมฝีมือต่างชาติ หารู้ไม่ ฝีมือคนไทยก็ใช่ย่อยแต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมก็ถึงบางอ้อ แม้จะไปบางมดก็ตามเอะ! ยังไง ไปบางมด หรือไปบางอ้อคืองี้ครับ สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสไปเยี่ยมสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)สถาบันนี้ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า FIBO เกิดจากลูกบ้าของ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่เลือกรับเงินเดือนไม่กี่พัน ทำงานสอน งานพัฒนาหุ่นยนต์ของคนไทย แทนที่จะไปรับเงินเดือนหลายหมื่นดอลลาร์ในต่างประเทศและวันนี้ ดูเหมือนหุ่นยนต์จาก FIBO แห่งนี้จะมีโอกาสไปแข่งในเวทีระดับโลกอีกครั้งที่ผมประทับใจคือ ชื่อหรือรุ่นของหุ่นยนต์ครับเพราะแทนที่จะเป็นภาษาอังกฤษ ดูอินเตอร์ๆแต่ทีมงานกลับเลือกใช้ชื่อที่ “ไทยมากๆ” นับตั้งแต่ “ส้มจุก” หุ่นยนต์ตัวแรก ที่ขนาดเท่าคน และมีเพียงครึ่งตัวล่าง ที่ตอนนั้นเน้นทำวิจัยการทรงตัวเป็นอันดับแรกหลังจากนั้น ก็หันมาพัฒนาหุ่นยนต์ Humaniod (คือรูปร่างคล้ายมนุษย์) ในขนาดเล็กลงในชื่อ “ใจดี” “จี๊ด” “กาละแม” และรุ่นล่าสุดชื่อ “พอดี” “ใจดี” หนัก 3.3 กิโลกรัม สูง 45 เซ็นติเมตร เคยเข้าแข่งขัน [...]

ซีทีเอเชียฯเล็งส่งออกหุ่นยนต์ไทย

ผู้ผลิตหุ่นยนต์ไทย ใจถึง ซีที เอเชีย โรบอร์ต เผยอีก 3 ปี เตรียมพาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุไทยเจาะตลาดญี่ปุ่น
นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรบอร์ติกส์ ผู้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อการพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนการตลาดในระยะยาวของบริษัทภายใน 3 ปี คือ เตรียมส่งออกหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุไปตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเห็นว่าในอนาคตสัดส่วนประชากรสูงอายุของญี่ปุ่นจะเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนในตลาดหุ่นยนต์โลกมากเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 46% ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก ต่างจากประเทศไทยที่ตลาดหุ่นยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร และการดูแลผู้สูงอายุคนไทยจะพึ่งคนงานหรือแม่บ้านในการดูแลมากกว่า
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2553 บริษัทมีแผนผลิตหุ่นยนต์เชิง เอนเตอร์เทนเมนต์ ชื่อ "Interaction Endutainment Robot" ที่เน้นให้ความรู้และความบันเทิงแก่มนุษย์ อย่างหุ่นยนต์สอนหนังสือ หรือให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยจะ เห็นหุ่นยนต์ประเภทนี้ตามศูนย์วิทยาศาสตร์ เช่น ทีเค พาร์ค
นายเฉลิมพล กล่าวต่อว่า บริษัทได้เปิดตัวหุ่นยนต์ต้นแบบตัวแรกของประเทศไทย ชื่อ "น้องดินสอ" โดยรุ่นแรกจะเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ เสิร์ฟอาหาร โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าที่ต้องการใช้งานหุ่นยนต์ในการให้ความบันเทิงและสร้างสีสัน โดยหุ่นยนต์รุ่นดังกล่าว มีต้นทุน การผลิตประมาณตัวละ 3 ล้านบาท
ปัจจุบันนี้ลูกค้ารายแรก ของบริษัท คือ บริษัท เอ็มเค เรสเตอรอง ที่ลงนามสั่งซื้อหุ่นยนต์ไปใช้เสิร์ฟอาหารจำนวน 10 ตัว ซึ่งจะให้บริการหมุนเวียนตามสาขาต่างๆ ของเอ็มเคกว่า 300 สาขา ราคาประมาณตัวละ 1 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าหุ่นยนต์รุ่นนี้จะเริ่มให้บริการได้ประมาณไตรมาส 2 ของ ปีหน้า
นอกจากนี้ช่วงกลางปีหน้ายังมีแผนจะนำ "น้องดินสอ" ไปโชว์ตัวในงานโรบอต เอ็กซ์โป ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2562 คาดว่า ทุก ครัวเรือนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา จะมีหุ่นยนต์ประจำบ้าน และอีกไม่ เกิน 20 ปีข้างหน้า ตลาดหุ่นยนต์โลกจะใหญ่กว่าตลาดรถยนต์ และคาดว่าปี 2568 ภาพรวมของตลาดหุ่นยนต์จะมีมูลค่าถึง 2.19 ล้านล้านบาท

ฟีโบ้นำทีมศึกษายุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย

จากกระแสความตื่นตัวในเทคโนโลยีทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และความสำเร็จของเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามจัดทำร่าง “ยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย” เพื่อใช้สำหรับกำหนดทิศทาง เป้าหมาย กลยุทธ์และกิจกรรมต่างๆในการสร้างความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เพื่อส่งเสริมให้มีศักยภาพทางด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ ตลอดจนทำให้มีความสามารถทางการแข่งขันทางด้านการวิจัยพัฒนา และประยุกต์ใช้วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติกับนานาประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเริ่มกิจกรรมนำร่องในระยะเวลา 5 ปีระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2555 คณะนักวิจัยประกอบด้วย
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีรศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ประธานโครงการ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาโครงการดร.วรพจน์ อังกสิทธิ์ นักวิจัย ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ นักวิจัยคุณพีรศิลป์ สันธนะพันธ์ ผู้ช่วยนักวิจัยคุณคมกฤช ทิพย์เกษร ผู้ช่วยนักวิจัยคุณอนุสรา มีชัย ผู้ประสานงานคุณวนิดา อิ่มทอง ผู้ประสานงานคุณณัฏฐา รักการดี ผู้ประสานงาน
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ นักวิจัย
งานที่ได้ดำเนินการในส่วนแรกเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน เพื่อให้ทราบสถานภาพที่แท้จริงของประเทศเกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้านต่างๆได้แก่ ด้านการศึกษา เป็นการสำรวจหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา พร้อมจำนวนบุคลากรที่ผลิตได้เพื่อรองรับสายงานทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ด้านการวิจัยและพัฒนา ได้ทำการสำรวจงานวิจัยต่างๆทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และส่วนสุดท้ายทางด้านการประยุกต์ใช้งาน การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปใช้ทั้งทางอุตสาหกรรม ทางการแพทย์ ทางการทหาร และทางการศึกษา สำหรับการศึกษาทางด้านจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (SWOT) ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รวมทั้งการวางกลยุทธ์ แผนปฏิบัตการ และกิจกรรมเพื่อพัฒนาประเทศทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงได้ดำเนินการจัดประชุมระดมสมองผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในส่วนของภาคการศึกษา ภาคอุตสาหรรม และการวิจัย จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง

หุ่นยนต์ไทยสมองไหลเสียของ

“องค์การสหประชาชาติเคยประเมินไว้ว่า ปลายปี 2550 หุ่นยนต์จะยิ่งมีบทบาทสูง ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทั่วโลกจะมีหุ่นยนต์รูปแบบต่าง ๆ ในบ้านราว 4.1 ล้านตัว ซึ่งแม้ไทยจะยังมีการใช้งานหุ่นยนต์ไม่สูงเท่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์เพื่อให้ทันโลก ซึ่งในการเรียนรู้ก็ต้องพึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการสนับสนุนของคนรุ่นเก่า” ...เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากสกู๊ปเกี่ยวกับ “หุ่นยนต์” ที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” นำเสนอไปตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2550 และแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศไทยก็ได้ชื่อเสียงด้านหุ่นยนต์อีก จาก “ความสามารถของเยาวชนไทย” นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย สมัยที่ 4 และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก สมัยที่ 2 ขณะที่นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รางวัลที่ 3 ซึ่งนี่มิใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมาเยาวชนไทยก็ทำได้มาแล้วหลายครั้ง นี่น่าจะถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของ “หุ่นยนต์ไทย” แต่เอาเข้าจริงเราจะก้าวไปได้ถึงไหนยังต้องลุ้น ?!? ทั้งนี้ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ประมาณว่า... “วันนี้ศักยภาพคน คือตัวเด็กไทย เดินไปได้ไกลและเป็นที่ยอมรับแล้ว แต่ปัญหาคือยังขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่มีการส่งเสริมจริงจัง ไม่แน่ว่าสักวันเข็มขัดแชมป์โลกของไทยก็อาจกระเด็นหลุดจากมือไป เพราะทุกประเทศต่างก็หวังตำแหน่งนี้เช่นกัน” แต่กับเรื่องนี้ลึก ๆ แล้วคงมิใช่แค่เรื่องรักษาแชมป์ ในไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมเมคคา ทรอนิกส์ ที่เกี่ยวกับ “หุ่นยนต์” ในระดับปริญญาตรี มากกว่า 10 แห่งขึ้นไป ถือว่ามีการเรียนการสอนเรื่อง “หุ่นยนต์” แพร่หลายไม่น้อยเลย ขณะที่ระดับนโยบายของประเทศ หุ่นยนต์ก็มิใช่เรื่องใหม่แล้ว เคยเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของแผนด้านการพัฒนา เคยถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อ 15 ม.ค. 2551 ในชื่อ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ซึ่งมีแนวคิดจาก “แผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย” เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมกับความต้องการในภาคผลิตและภาคบริการ อาทิ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์ทางการทหาร หุ่นยนต์ทางการแพทย์ รวมถึงด้านอื่น ๆ โดยมีการกำหนด 5 ด้านหลักคือ... 1.การพัฒนาบุคลากร 2.การพัฒนาเทคโนโลยี 3.การถ่ายทอดเทคโนโลยี 4.การพัฒนาอุตสาหกรรม 5.การพัฒนานโยบาย ณ วันนี้เรื่องความเก่งด้านหุ่นยนต์ของเยาวชนไทย...มีการแสดงออกมาเด่นชัดแล้ว หากแต่ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยโดยรวมจะได้รับจากศาสตร์ด้านหุ่นยนต์นี้...ดูจะยังไม่ชัดเจน ?!? ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ระบุกับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... เรื่องหุ่นยนต์หรือที่นักวิชาการเรียกว่าระบบอัตโนมัตินี้เป็นยุทธศาสตร์ด้าน การพัฒนาที่สำคัญของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างก็พยายามพัฒนาศักยภาพให้ก้าวล้ำเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และสำหรับประเทศไทย ในระดับบุคลากร จากผลงานของเยาวชนไทยที่ปรากฏก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่พร้อมจะรองรับเทคโน โลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์ได้แล้ว ที่สำคัญประเทศไทยเวลานี้ยังถือว่ามีความพร้อมด้านนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ไทย แต่ปัญหาคือ ขณะนี้ทัศนคติผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษายังไม่สอดคล้องกัน ผู้ประกอบการและนักลงทุนมีความกังวลใจในเรื่องความพร้อมของบุคลากร จนไม่กล้าที่จะนำเข้าและลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง “เยาวชนไทยเมื่อเรียนจบด้านนี้แล้วกลับไม่มีงานให้ทำ หรือไม่มีสถานประกอบการรองรับ เนื่องจากไม่ค่อยมีการลงทุนเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้หลายคนจำเป็นต้องไปทำงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือออกไปทำงานในต่างประเทศ ไทยจึงประสบปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศอย่างน่าเสียดาย” รอง ผอ.เนคเทค ระบุอีกว่า... ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านหุ่นยนต์ในภูมิภาค แต่สำคัญคือ “รัฐต้องสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ด้วยท่าทีที่ชัดเจน เพื่อตอกย้ำและเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ว่าประเทศไทยพร้อมรองรับเทคโนโลยีระดับสูง” ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพิ่มสูงขึ้น เพราะสามารถลดปัญหาความผิดพลาด ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าได้มากขึ้น แต่สำหรับไทยการลงทุนหรือใช้งานเทคโนโลยีนี้ยังเกิดขึ้นน้อย ทั้งนี้ ถ้าวงจรเหล่านี้เกิดขึ้นในไทยจะเกิดมูลค่าเพิ่มกับประเทศมหาศาล นอกจากนี้ยังจะเป็นการยกระดับแรงงานไทยให้สูงขึ้น ช่วยแก้ ปัญหาการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ รายได้จากภาคการผลิต รายได้จากภาคแรงงาน รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ไทยจะได้จากการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ “ผลบวกจะเกิดกับประเทศไทยมหาศาล อันดับแรก...ประเทศไทยจะไม่สมองไหล เมื่อเด็กจบมาแล้วมีงานรองรับ องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะไม่ไหลออกไปไหน อันดับสอง...ภาคการผลิตก็สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพหรือใช้เทคโนโลยีสูง ๆ ได้มากขึ้น เมื่อผลิตสินค้าที่มีราคามากขึ้น รายได้ของประเทศก็ย่อมเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งนี่เป็นผลพวงที่เราจะได้จากเทคโนโลยีหุ่นยนต์” ...ดร.กว้านระบุ วันนี้...คนไทยรุ่นใหม่เก่งเรื่อง “หุ่นยนต์” ไม่แพ้ชาติไหน แต่...ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความเก่งนี้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า ??.