วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รมว.วิทย์ฯ เป็นประธานเปิดตัวหุ่นยนต์ไทยตัวแรกที่ผลิตเชิงพาณิชย์ โดยทีมวิศวกรไทยและเปิดตัวบริษัท CT






ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์ต้นแบบตัวแรกของไทยที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ชื่อหุ่นยนต์ CT ผลิตโดยวิศวกรไทย และเปิดตัวบริษัท CT Asia Robotics จำกัด โดยมี ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สนช.) , คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท CT Asia Robotics จำกัด และคณะผู้บริหารร่วมงาน ณ ห้อง Ballroom 3 โรงแรม Conrad เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเปิดตัวของบริษัท CT Asia Robotics จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์ไทยตัวแรกโดยทีมวิศวกรไทย โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบของไทยเพื่อการพาณิชย์ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการสร้างความตื่นตัวให้กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเป็นอย่างมาก หลังจากที่นักศึกษาไทยหลายสถาบันคว้ารางวัลแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ตลอดระยะเวลา 4- 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นการสร้างตลาดใหม่ รายได้ใหม่ และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมไฮเทค ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ดำเนินการผ่าน สนช. ในการให้การสนับสนุนโครงที่จะก่อให้เกิดการเร่งสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เชื่อมโยงผลงานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเอกชน ผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ จากผลงานวิทยาศาสตร์ให้เร็วที่สุดด้วยเหตุผล 3 อย่างคือ 1. ทำอย่างไรที่จะลดต้นทุน 2. เพื่อเพิ่มมูลค่า 3. สามารถนำไปแข่งขันได้ ดังนั้น เป็นที่น่ายินดีว่าในวันนี้นโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นความจริง และในขณะนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือ กรอ.วท. เพื่อเป็นกลไกผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือ กรอ.วท.นี้ ประกอบด้วยผู้แทนจาก NGO ผู้แทนจาก SME ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนจากหอการค้าไทย องค์กรหน่วยงานต่างๆ มาทำวิจัยพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน
ด้าน ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช.) กล่าวว่า สนช. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาต่อยอดให้เกิด
ธุรกิจนวัตกรรม โดย สนช.สนับสนุนโครงการนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ ของบริษัท CT Asia Robotics จำกัด ซึ่งประเทศไทยต้องการผู้ประกอบการที่สามารถซึมซับและขยายองค์ความรู้ให้ออกมาเป็นสินค้า ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สินค้าสร้างสรรค์” การออกแบบเชิงนวัตกรรม ถือว่าเป็นเครื่องมือในการแปรรูปความคิดทั้งด้านศิลปะและเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยนั้นถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะสามารถสร้างฐานรายได้ใหม่ ซึ่งจะสอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำนักงานนวัตกรรมฯ กำลังขับเคลื่อนกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนพื้นฐานของเทคโนโลยี
ด้านนายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท CT Asia Robotics จำกัด กล่าวว่า บริษัท CT Asia Robotics จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นบริษัทแนวหน้าของคนไทยในเวทีธุรกิจหุ่นยนต์ของโลก โดยการพัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ รองรับความต้องการของตลาดที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งงาน
บริการในร้านอาหาร และงานส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด อาทิ งาน Event ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับแผนการทำตลาดหุ่นยนต์ไทยตัวแรก (หุ่นยนต์ CT )ที่ผลิตขึ้นจะนำไปใช้ในการเสริฟอาหารของลูกค้า โดยกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าคือ กลุ่มลูกค้าที่ใช้งานหุ่นยนต์ในการสร้างสีสันนอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ตัวที่สองเพื่อรองรับงานส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ด้วย
การทำตลาดหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท CT Asia Robotics จำกัด มุ่งเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศโดยการพัฒนาหุ่นยนต์ของบริษัทจะทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทำงานและผู้สูงอายุ ส่วนแผนระยะยาวบริษัทตั้งเป้าเจาะตลาดหุ่นยนต์ญี่ปุ่นภายใน 3 ปี สำหรับหุ่นยนต์ไทยตัวแรกซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิตจะสามารถนำไปใช้จริงได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2553 และบริษัทมีแผนที่จะนำหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยทีมวิศวกรไทยไปโชว์ในงาน Robot Expo ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น