วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หุ่นยนต์ไทยสมองไหลเสียของ

“องค์การสหประชาชาติเคยประเมินไว้ว่า ปลายปี 2550 หุ่นยนต์จะยิ่งมีบทบาทสูง ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทั่วโลกจะมีหุ่นยนต์รูปแบบต่าง ๆ ในบ้านราว 4.1 ล้านตัว ซึ่งแม้ไทยจะยังมีการใช้งานหุ่นยนต์ไม่สูงเท่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์เพื่อให้ทันโลก ซึ่งในการเรียนรู้ก็ต้องพึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการสนับสนุนของคนรุ่นเก่า” ...เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากสกู๊ปเกี่ยวกับ “หุ่นยนต์” ที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” นำเสนอไปตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2550 และแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศไทยก็ได้ชื่อเสียงด้านหุ่นยนต์อีก จาก “ความสามารถของเยาวชนไทย” นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย สมัยที่ 4 และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก สมัยที่ 2 ขณะที่นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รางวัลที่ 3 ซึ่งนี่มิใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมาเยาวชนไทยก็ทำได้มาแล้วหลายครั้ง นี่น่าจะถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของ “หุ่นยนต์ไทย” แต่เอาเข้าจริงเราจะก้าวไปได้ถึงไหนยังต้องลุ้น ?!? ทั้งนี้ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ประมาณว่า... “วันนี้ศักยภาพคน คือตัวเด็กไทย เดินไปได้ไกลและเป็นที่ยอมรับแล้ว แต่ปัญหาคือยังขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่มีการส่งเสริมจริงจัง ไม่แน่ว่าสักวันเข็มขัดแชมป์โลกของไทยก็อาจกระเด็นหลุดจากมือไป เพราะทุกประเทศต่างก็หวังตำแหน่งนี้เช่นกัน” แต่กับเรื่องนี้ลึก ๆ แล้วคงมิใช่แค่เรื่องรักษาแชมป์ ในไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมเมคคา ทรอนิกส์ ที่เกี่ยวกับ “หุ่นยนต์” ในระดับปริญญาตรี มากกว่า 10 แห่งขึ้นไป ถือว่ามีการเรียนการสอนเรื่อง “หุ่นยนต์” แพร่หลายไม่น้อยเลย ขณะที่ระดับนโยบายของประเทศ หุ่นยนต์ก็มิใช่เรื่องใหม่แล้ว เคยเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของแผนด้านการพัฒนา เคยถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อ 15 ม.ค. 2551 ในชื่อ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ซึ่งมีแนวคิดจาก “แผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย” เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมกับความต้องการในภาคผลิตและภาคบริการ อาทิ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์ทางการทหาร หุ่นยนต์ทางการแพทย์ รวมถึงด้านอื่น ๆ โดยมีการกำหนด 5 ด้านหลักคือ... 1.การพัฒนาบุคลากร 2.การพัฒนาเทคโนโลยี 3.การถ่ายทอดเทคโนโลยี 4.การพัฒนาอุตสาหกรรม 5.การพัฒนานโยบาย ณ วันนี้เรื่องความเก่งด้านหุ่นยนต์ของเยาวชนไทย...มีการแสดงออกมาเด่นชัดแล้ว หากแต่ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยโดยรวมจะได้รับจากศาสตร์ด้านหุ่นยนต์นี้...ดูจะยังไม่ชัดเจน ?!? ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ระบุกับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... เรื่องหุ่นยนต์หรือที่นักวิชาการเรียกว่าระบบอัตโนมัตินี้เป็นยุทธศาสตร์ด้าน การพัฒนาที่สำคัญของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างก็พยายามพัฒนาศักยภาพให้ก้าวล้ำเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และสำหรับประเทศไทย ในระดับบุคลากร จากผลงานของเยาวชนไทยที่ปรากฏก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่พร้อมจะรองรับเทคโน โลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์ได้แล้ว ที่สำคัญประเทศไทยเวลานี้ยังถือว่ามีความพร้อมด้านนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ไทย แต่ปัญหาคือ ขณะนี้ทัศนคติผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษายังไม่สอดคล้องกัน ผู้ประกอบการและนักลงทุนมีความกังวลใจในเรื่องความพร้อมของบุคลากร จนไม่กล้าที่จะนำเข้าและลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง “เยาวชนไทยเมื่อเรียนจบด้านนี้แล้วกลับไม่มีงานให้ทำ หรือไม่มีสถานประกอบการรองรับ เนื่องจากไม่ค่อยมีการลงทุนเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้หลายคนจำเป็นต้องไปทำงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือออกไปทำงานในต่างประเทศ ไทยจึงประสบปัญหาสมองไหลออกนอกประเทศอย่างน่าเสียดาย” รอง ผอ.เนคเทค ระบุอีกว่า... ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางด้านหุ่นยนต์ในภูมิภาค แต่สำคัญคือ “รัฐต้องสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ด้วยท่าทีที่ชัดเจน เพื่อตอกย้ำและเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ว่าประเทศไทยพร้อมรองรับเทคโนโลยีระดับสูง” ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพิ่มสูงขึ้น เพราะสามารถลดปัญหาความผิดพลาด ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าได้มากขึ้น แต่สำหรับไทยการลงทุนหรือใช้งานเทคโนโลยีนี้ยังเกิดขึ้นน้อย ทั้งนี้ ถ้าวงจรเหล่านี้เกิดขึ้นในไทยจะเกิดมูลค่าเพิ่มกับประเทศมหาศาล นอกจากนี้ยังจะเป็นการยกระดับแรงงานไทยให้สูงขึ้น ช่วยแก้ ปัญหาการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ รายได้จากภาคการผลิต รายได้จากภาคแรงงาน รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ไทยจะได้จากการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ “ผลบวกจะเกิดกับประเทศไทยมหาศาล อันดับแรก...ประเทศไทยจะไม่สมองไหล เมื่อเด็กจบมาแล้วมีงานรองรับ องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะไม่ไหลออกไปไหน อันดับสอง...ภาคการผลิตก็สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพหรือใช้เทคโนโลยีสูง ๆ ได้มากขึ้น เมื่อผลิตสินค้าที่มีราคามากขึ้น รายได้ของประเทศก็ย่อมเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งนี่เป็นผลพวงที่เราจะได้จากเทคโนโลยีหุ่นยนต์” ...ดร.กว้านระบุ วันนี้...คนไทยรุ่นใหม่เก่งเรื่อง “หุ่นยนต์” ไม่แพ้ชาติไหน แต่...ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความเก่งนี้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า ??.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น