วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 4)

นักวิทยาศาสตร์ฝันว่าสักวันหนึ่ง เราจะสามารถถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ ความมีชีวิตจิตใจ ให้เข้าไปอยู่ในหุ่นยนต์ได้ แต่ก่อนอื่น หุ่นยนต์จะต้องมีผัสสะแบบที่มนุษย์มีเสียก่อน นั่นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense) ผมเองก็ทำวิจัยเกี่ยวกับสัมผัสประดิษฐ์อยู่ 3 อย่าง คือ จมูกประดิษฐ์ (Artificial Nose) ลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Tongue) และ ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Skin) ซึ่ง เทคโนโลยีทั้ง 3 อย่างนี้กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่นำมาประยุกต์ในหุ่นยนต์ได้เท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกมากมายเลยครับ
การทำให้หุ่นยนต์มีสัมผัสไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นนัก แต่การที่จะทำให้หุ่นยนต์มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ ยังเป็นสิ่งท้าทายอยู่มาก ดังที่
ศาสตราจารย์ ลีโอ แวน เฮมเมน หัวหน้าสถาบันชีวฟิสิกส์เชิงทฤษฎี แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิค (ผมก็เคยไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่นี่ครับ เมืองมิวนิคน่าอยู่มาก มีงานเทศกาล October Fest ที่เมาเบียร์กันได้ทั้งเดือน ......) ได้กล่าวไว้ว่า "เทคโนโลยีของพวกเราได้ล้ำหน้าสิ่งที่มีในธรรมชาติ ไปหลายๆ เรื่องแล้วครับ แต่เรื่องสำคัญบางอย่างนั้น เรากลับไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่ อย่างเช่น การนำสัมผัสมาประกอบเป็นความรู้สึก"
สัตว์ หลายชนิดมีระบบสัมผัสที่มนุษย์เราไม่มี เราอาจเรียกสัมผัสเหล่านั้นว่าเป็น Sixth Sense ก็ได้ หากใครก็ตามที่มีความสามารถเช่นนั้น ตัวอย่างก็คือ ปลาและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางชนิด มีสัมผัสพิเศษที่ทำให้มันสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเพียง เล็กน้อย เสมือนได้จับต้องกับวัตถุที่อยู่รอบๆ ตัวมัน โดยมันไม่จำเป็นต้องไปสัมผัสหรือเห็นวัตถุนั้นเลย สัตว์ หลายชนิดสามารถใช้อวัยวะของมันเพื่อตรวจดูสิ่งแวดล้อม ด้วยรังสีอินฟราเรด คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษเหมือนพวกเรา ด้วยเหตุนี้ ทีมของศาสตราจารย์เฮมเมน จึงสนใจค้นคว้าสัมผัสพิเศษของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง เราอาจจะสร้างสัมผัสประดิษฐ์แบบนี้ให้แก่หุ่นยนต์ได้


Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 3)

ศตวรรษ ที่ 20 เป็นศตวรรษของฟิสิกส์ การค้นพบอะตอม อิเล็กตรอน และกลศาสตร์ควอนตัม ได้นำมาสู่การปฎิวัติเทคโนโลยีที่ทำให้เรากินดูอยู่ดีทุกวันนี้ครับ แต่ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของชีววิทยาครับ จริงๆ ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ต้องบอกว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของชีววิทยาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิทยาศาสตร์ของจิตใจ (Mind Science) ด้วย อีกไม่นานหรอกครับ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งห่างเหินและแยกกันอยู่จากวิทยาศาสตร์มานาน จะหวนกลับมารวมกับวิทยาศาสตร์อีกครั้ง มนุษยศาสตร์กับสังคมศาสตร์แบบเก่าจะสูญพันธุ์ เหลือแต่ มนุษยศาสตร์กับสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ครับ ใครไม่เชื่อลองไปดูที่ฮาร์วาร์ด (Harvard University) กับ MIT ทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้ มีการวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ล้ำหน้ามาก
ตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้เป็นต้นไป คนเราจะถามตัวเองมากขึ้นว่า เราเป็นใคร มาจากไหน เกิดมา
ทำไม และอยู่เพื่ออะไร เราจะถามตัวเองมากขึ้นว่าเราอยู่โดดเดี่ยวในจักรวาลหรือเปล่า มี เรามีตัวตนจริงๆหรือว่าเป็นเพียงแค่โปรแกรมที่รันอยู่ใน computer simulation เราจะสงสัยมากขึ้นว่าเราสามารถที่จะชะลอความแก่เพื่อยืดอายุของเราเองให้ยาวนานออกไปเป็น 1000 ปีได้หรือไม่
คำ ถามหนึ่งที่เราจะถามมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจหรอกว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้แล้วเราจะได้คำตอบ แต่การแสวงหาหนทางไปสู่คำตอบนี้ จะทำให้เราได้เทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย คำถามนั้นก็คือ ชีวิตคืออะไร ??? แล้วเราสามารถที่จะสร้างชีวิตขึ้นมาเองได้หรือไม่ ???
สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมานานแล้วก็คือ เราสามารถสร้างความ "มีชีวิต" ให้แก่หุ่นยนต์ได้หรือไม่ จริงๆแล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้นิยามสิ่งมีชีวิตขั้นต่ำที่สุดก็คือแบคทีเรีย
ในปัจจุบันนี้ เรามีศักยภาพในการสร้างแบคทีเรียสังเคราะห์ (Synthetic Bacteria) ได้แล้ว แต่เรายังไม่สามารถทำหุ่นยนต์ให้มีชีวิตได้ตามนิยามของสิ่งมีชีวิต แบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตแต่ไม่มีจิตใจ ไม่มีความรู้สึก ไม่มีอารมณ์ แต่ดูเหมือนตอนนี้เรามีความสามารถในระดับหนึ่งที่จะสร้างอารมณ์ให้หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นไปสู่การทำให้มันมีจิตใจ
ศาสตราจารย์ รอดนีย์ บรูคส์ (Rodney Brooks) นักวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ศาสตร์แห่ง MIT กล่าวว่า "พวกเราเองก็เป็นจักรกลเหมือนกันครับ ไม่ต่างจากพวกหุ่นยนต์หรอกครับ เพียงแค่ชิ้นส่วนของเราทำมาจากวัสดุชีวภาพก็แค่นั้นเอง" ท่าน เชื่อว่าไม่เพียงแต่เนื้อหนังของเราเท่านั้นที่มีความเป็นจักรกล อารมณ์และความรู้สึกก็ใช่ด้วย เพราะอารมณ์ต่างๆ เช่น ความเศร้าโศกเสียใจ ก็เกิดจากสารเคมีประสาทที่หลั่งในสมอง ถ้าเราเข้าใจกลไกเหล่านี้ดีพอ ทำไมเราจะโปรแกรมโค้ดพวกนี้เข้าไปในหุ่นยนต์ไม่ได้ล่ะ ......



อ้างอิงจาก http://pi.eng.src.ku.ac.th/mod/forum/discuss.php?d=5140

Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 2)

สัปดาห์ ที่ผ่านมาผมค่อนข้างยุ่งมากเลยครับ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูกาลเขียนขอทุนวิจัย ซึ่งพวกเราจำเป็นจะต้องเขียน proposal เข้าไปแข่งขัน เพื่อนำทุนวิจัยมาทำงานและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดประโยชน์ นอก จากนั้นยังมีงานต้องเขียนบทความวิจัย หรือที่ภาษานักวิชาการเขาเรียกกันว่า paper ซึ่งบทความวิจัยเหล่านี้ต้องส่งไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติครับ เป็นการรวบรวมผลงาน ความคิด การทดลองต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบตามหลักวิทยาศาสตร์ การ ส่งไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมีข้อดีที่ว่า (1) จะมีกรรมการอ่านจากหลายประเทศ เขาจะวิจารณ์และตรวจสอบว่างานของเราได้เรื่องหรือไม่ (2) งานที่ถูกตีพิมพ์จะมีคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ทั้งโลก (3) งานที่ทำจะได้เป็นงานที่ไม่เก่ากึ๊ก ทำซ้ำไปซ้ำมา เพราะมีคนตรวจสอบเรา ซึ่งไม่มีเส้นมีสาย ตรงไปตรงมา
อย่างที่ผมมักเคยบอกกล่าวตลอดมาล่ะครับว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งชีววิทยา เจ้าของบริษัท Google ก็มีภรรยาเป็นนักชีววิทยาครับ ทำให้ตอนนี้ Google เข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจการแพทย์และสุขภาพแล้ว วันนี้ ผมจะมาเล่าเกี่ยวประเด็นที่วงการหุ่นยนต์กำลังให้ความสนใจ นั่นก็คือ การมีวิวัฒนาการของหุ่นยนต์ เฉกเช่น วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ห้องปฏิบัติการระบบอัจฉริยะ (
Laboratory of Intelligent Systems) สังกัด Swiss Federal Institute of Technology เขามีการศึกษาความสามารถในการวิวัฒน์ของหุ่นยนต์ ด้วยการนำฝูงหุ่นยนต์ ที่เรามักรู้จักกันได้นาม Robot Swarm มาศึกษาพฤติกรรม โดยหุ่นยนต์แต่ละตัวจะติดตั้ง LED และตัวตรวจจับแสง จาก นั้นก็ปล่อยหุ่นยนต์วิ่งไปวิ่งมาตามสบาย โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเหมือนระบบประสาท (Neural Networks) ทางคณะวิจัยจะฉายแสงลงไปบนพื้น โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนที่เรียกว่า Food Zone คือหากหุ่นยนต์วิ่งมาในพื้นที่นี้ มันจะได้รับการชาร์จแบตเตอรี่เพิ่มพลัง แต่ถ้าหากมันหลงวิ่งเข้าไปในพื้นที่ที่เป็น Poison Zone มันจะถูกดูดแบตเตอรี่ออกไป ทำให้ชีวิตมันสั้นลงไปเรื่อยๆ
หลังจากปล่อยให้หุ่นยนต์วิ่งไปวิ่งมา ก็จะเหลือหุ่นยนต์ที่รอดเหลือพลังงาน โดยที่ส่วนหนึ่งจะพลังงานหมด ตัว ที่รอดจะถูกเลือกใช้เป็นโปรแกรมของหุ่นยนต์รุ่นต่อไป หลังจากมีการจำลองให้มีวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นรุ่นๆ ไปสัก 50 รุ่น นักวิจัยพบว่าหุ่นยนต์ได้มีการเรียนรู้ เกิดเป็นสังคมที่มีการช่วยเหลือกัน เพื่อที่จะหาอาหาร และ หลีกเลี่ยงอันตราย ที่น่าแปลกใจไป กว่านั้นก็คือ หุ่นยนต์บางตัวมีลักษณะฮีโร่ คือ ยอมเข้าไปในเขตอันตราย เพื่อกระพริบไฟเตือนตัวอื่นๆ ไม่ให้วิ่งเข้ามา แต่ที่น่าตื่นเต้นก็คือ มีหุ่นยนต์บางตัวแสดงบทบาทเป็นตัวร้าย ด้วยการกระพริบไฟหลอกให้ตัวอื่นๆ วิ่งเข้ามาในเขตอันตราย โดยหลอกว่าเป็นเขตอาหาร เมื่อตัวอื่นวิ่งเข้ามาเดี้ยงแล้ว มันก็รีบวิ่งหนีไปกินอาหารทันที !!!


Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์

ช่วงนี้วงการวิทยาศาสตร์กำลังเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 150 ปี ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ซึ่งทฤษฎีสะท้านโลกนี้ได้นำดาวเคราะห์ของเราออกจากความงมงายในเรื่องพระเจ้า สร้างโลก ทำให้พวกเราประจักษ์ชัดว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นวิวัฒนาการมาจากกระบวนการ ทางเคมีที่เริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ ไปสู่ความซับซ้อน ชาร์ล ดาร์วิน ได้เชื่อมโยงหลักฐานต่างๆอย่างมีระบบ ทำให้เราเข้าใจความมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และที่สำคัญก็คือกระบวนการทางธรรมชาติที่เรียกว่า Natural Selection (การคัดเลือกตามธรรมชาติ) นั้นได้ถูกเปิดเผยออกมา ทำให้ เรารู้ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ขณะนี้ มีการแข่งขันระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อไรที่สายพันธุ์ของเราอ่อนแอ ก็จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์อื่นๆ ได้เช่นกัน
แต่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้านั้น อาจไม่ได้มีแค่สิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่จะเข้ามาแข่งขันเพื่อเป็นสายพันธุ์ที่ ธรรมชาติคัดเลือก ทั้งนี้เพราะตอนนี้หุ่นยนต์แบบชีวะ ก็เริ่มมีวิวัฒนาการแบบสิ่งมีชีวิตแล้วล่ะครับ มีการวิจัยที่พยายามทำให้หุ่นยนต์สามารถที่จะมี evolution ได้แบบสิ่งมีชีวิต นักวิจัยได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง เช่น หุ่นยนต์ที่มีล้อ สามารถที่จะเรียนรู้ที่จะเดินหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ เมื่อเราติดเซ็นเซอร์เพิ่มเติม หุ่นยนต์ก็จะเรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งเพิ่มเอง พอลองผิดลองถูกไปสักพัก มันก็จะใช้อุปกรณ์ใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว นักวิจัยได้ลองใส่ล้อเพิ่มเข้าไปให้หุ่นยนต์ หุ่นยนต์สามารถที่จะเรียนรู้อุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามา ลองผิดลองถูกว่ามันมีข้อได้เปรียบอย่างไร เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ หากอุปกรณ์ส่วนใดบกพร่อง มันจะเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับของที่ยังมีอยู่ ในภาพยนตร์เรื่อง
wall-e นั้น เจ้าหุ่นกระป๋องเก็บขยะ เรียนรู้ที่จะ recycle สายพานล้อของมัน จากตัวที่เสียไปแล้ว


หุ่นยนต์มนุษย์

24 กันยายน 2549 ศาสตราจารย์ฮิโรชิ อิชิกูโร (Hiroshi Ishiguro) นักวิจัยญี่ปุ่น ได้เปิดตัวหุ่นยนต์รีไพล คิว 1 (Repliee Q1) หรือหุ่นยนต์แอนดรอยด์ (Android) ซึ่งมีความคล้ายมนุษย์มากที่สุดนับตั้งแต่ญี่ปุ่นผลิตหุ่นยนต์มา โดยได้รับการออกแบบให้สามารถกระพริบตา เคลื่อนไหวแขน ขา ศีรษะ และร่างกายท่อนบนได้อย่างอิสระและเป็นธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังสามารถหันหน้าแสดงท่าทีตอบรับ รวมทั้งขยับปากและเคลื่อนไหวลำตัวคล้ายการหายใจได้ด้วยการฝังเซนเซอร์และมอเตอร์หลายชิ้นทั่วตัวหุ่น ส่วนจุดเด่นของหุ่นยนต์ดังกล่าวอยู่ที่ส่วนของผิวหนัง ซึ่งไม่ได้ทำจากพลาสติกแข็งแต่ทำด้วยซิลิโคนที่มีความยืดหยุ่น จึงมีลักษณะคล้ายผิวหนังของมนุษย์สำหรับหุ่นยนต์รีไพล คิว 1 ถือเป็นพัฒนาการของหุ่นยนต์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ท่าทางและการเคลื่อนไหวของมนุษย์ที่หุ่นยนต์สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้เป็นตัวแรก โดยในอนาคตจะพัฒนาให้หุ่นยนต์กลายเป็นมนุษย์จริงได้ด้วยการนำโปรแกรมที่จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ มาใส่ไว้


อ้างอิงจาก http://www.siamarchives.com/node/19704

I, Robot อนาคตที่ไม่ไกลเกินฝัน

ช่วงนี้หนึ่งในภาพยนตร์ที่หลายคนตั้งตารอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนหนังไซไฟและแฟนนวนิยายของนักเขียนชื่อกระฉ่อนอย่าง " ไอแซค อาซิมอฟ คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์เรื่อง I, Robot ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีคริสต์ศักราช 2035 เมื่อเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก้าวหน้าอย่างมากจนเราไว้วางใจให้หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันแต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่หุ่นยนต์ละเมิดกฎที่ตั้งไว้และหันกลับมาทำร้ายมนุษย์ผู้สร้าง แน่นอนนี่คือความตื่นเต้นในภาพยนตร์ที่จิตนาการว่าอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ที่หลายคนมองว่ายังไกลเกินจริงนัก แต่หากคุณทราบถึงพัฒนาการด้านหุ่นยนต์ในปัจจุบัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2035 อาจมาถึงตัวเราเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้ ในอดีตพัฒนาการของหุ่นยนต์ มุ่งเน้นไปในทางด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต เช่น มีเฉพาะมือไว้ใช้จับวัสดุ หรือในรูปแบบอื่นๆ หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงยอดนิยมของโซนี่ อย่าง ไอโบ ก็เป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และคุณทราบไหมครับว่า ยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมพุ่งขึ้นสูงถึง 750,000 ตัวในปี 2001 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ได้มีการรวบรวมเป็นสถิติเก็บไว้ ถึงวันนี้ ก็น่าจะมีเกินกว่า 1 ล้านตัวไปแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายๆด้าน ปัจจุบันหลายๆ หันมาให้ความสนใจวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่ด้วยขาสองขา (หรือเรียกง่ายๆว่าเดินนั่นละครับ) ในการเคลื่อนที่มากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีความคล่องตัวสูงและสามารถเคลื่อนที่ไปในที่พื้นที่ที่หุ่นยนต์แบบล้อเข้าไปได้ยาก โครงพัฒนาหุ่นยนต์เลียนแบบมนุยษ์หรือฮิวแมนนอย (Humanoid) เป็นโครงการที่หน่วยงานทั้งรัฐบาลและเอกชนในต่างๆประเทศกำลังพัฒนากันอยู่ และที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีก็เห็นจะเป็นหุ่น Asimo ของบริษัทฮอนด้า ที่เคยเข้ามาโชว์ตัวในประเทศเมื่อหลายปีที่ผ่านมา นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ เพราะยังมีอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น อาจเรียกได้ว่ามันเป็นหุ่นยนต์มนุษย์ที่ก้าวหน้าที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน และเป็นโครงการที่บอกให้คุณทราบว่า โลกของ I, Robot อยู่ไม่ไกลเกินจริงเลย HRP-2 หรือ Promet เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาโดย MSTC (Manufacturing Science and Technology Center) ภายใต้การออกแบบของบริษัท Kawada Industries ประเทศญี่ปุ่น Promet เป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าที่สุดในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาคุณอาจจะได้เห็นหุ่นที่สามารถเดิน 2 ขา ขึ้นบันได หรือเต้นรำได้ แต่สำหรับ Promet ตัวนี้มีอะไรๆที่เหนือกว่ามาก แม้ดูจากรูปร่างหน้าตา เจ้า Promet ตัวนี้ดูเหมือนหุ่นยนต์ในการ์ตูนญี่ปุ่นไปหน่อยก็ตามที เทคโนโลยีการพัฒนาช่วยให้หุ่นตัวนี้สามารถเคลื่อนไหวในแบบมนุษย์ด้วยท่าทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเดินข้ามสิ่งกีดขวาง การการก้มตัวลงคลานลอดในช่องทางแคบๆ การเดินบนไม่กระดานแผ่นเดียว การช่วยคนยกสิ่งของ หรือแม้แต่การล้มตัวลงนอนจากท่ายืน การยันตัวให้สามารถยืนขึ้นได้จากท่านอน แน่นอนว่าหากประสบอุบัติเหตุล้มลง หุ่นตัวนี้ก็สามารถยืนเองได้โดยไม่ต้องมีใครช่วย Promet เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ที่มีความสูง 150 เซนติเมตร น้ำหนัก 58 กิโลกรัม มือทั้ง 2 ข้างของ Promet สามารถยกน้ำหนักได้มากถึงข้างละ 2 กิโลกรัม สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องวิดีโอ 3 ตัวที่ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนหัว และสามารถเดินได้ด้วยความเร็วสูงสุด 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้พลังจากจากแบตเตอรี สำหรับในประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์ในลักษณะนี้อยู่เช่นกัน โดยทางศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม FIBO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ได้มีการวิจัยและสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบสองขาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันก็ก้าวหน้าไปแล้วในระดับหนึ่ง โดยสามารถก้าวเดิน ลุกนั่ง ยืนขาเดียว แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แต่ชาวต่างชาติเท่านั้น แต่หุ่นยนต์ Humaniod ของคนไทยก็มีเหมือนกัน ถ้าเทียบกับภาพยนตร์เรื่อง I, Robot ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี แน่นอนว่านับจากวันนี้ต่อไปในอนาคต พัฒนาการของ Promet รวมทั้งหุ่นยนต์ Humanoid ตัวอื่นๆ คงก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากคุณมีโอกาสได้เห็นภาพยนตร์สาธิตความสามารถของเจ้า Promet ตัวนี้ บอกได้เลยว่าคุณต้องทึ่งในความสามารถและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปมากกว่าที่เราคาดคิด ขณะเดียวกันคุณก็อาจเกิดความกลัวขึ้นมาก็ได้ว่า หากอนาคตรูปแบบของ Promet ก้าวหน้าขึ้น สถานะการณ์อย่าง I, Robot อาจจะเกิดขึ้นใกล้ตัวคุณก็เป็นได้


อีก 50 ปีสังคมยอมรับ คนมีเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์




google_protectAndRun("ads_core.google_render_ad", google_handleError, google_render_ad);
อีก 50 ปีสังคมยอมรับ คนมีเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์
วิวัฒนาการของโลก และของเทคโนโลยี หุ่นยนต์ ช่างก้าวไปไกลจริงๆ พอเห็นข่าวนี้ตอนแรก รู้สึกแปลกใจ และ ตกใจ ทีเดียว หุ่นยนต์ จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แล้วหรือ เลยต้องรีบเอามาฝากกันค่ะ ดร.เดวิด เลวี่ นักการศึกษาเรื่องเพศและเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) และเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Sex with Robots : The Evolution of Human-Robot Relations หรือ เพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ : วิวัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ มีความเห็นว่า ภายในกลางศตวรรษนี้ หุ่นยนต์เซ็กซ์จะกลายเป็นที่ยอมรับของสังคม มนุษย์จะตกหลุมรักหุ่นยนต์ที่กลายเป็นทาสทางกามแม้ทุกคนจะไม่เห็นด้วยกับมุมมองของเลวี่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ก้าวไกลไปมาก โดยเลียนแบบกล้ามเนื้อและความเคลื่อนไหวของมนุษย์ได้ดี แม้แต่เสียงยังเลียนได้ไม่ต่างจากมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เลวี่ยอมรับว่า ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสร้างหุ่นยนต์ให้ได้เหมือนมนุษย์จนแยกกันไม่ออกเมื่อปลายปีที่แล้ว อาจารย์จากวาเซดะ ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศญี่ปุ่น โชว์หุ่นยนต์ ทเวนดี้วัน ที่สามารถทำอาหารได้ พูดได้ เชื่อฟังคำสั่ง เพราะมีเซ็นเซอร์ 241 ตัว ส่วนบริษัทเอ็กซิสของญี่ปุ่นเช่นกัน ได้ผลิตหุ่นยนต์เซ็กซ์สำหรับชาย เรียกว่า ฮันนี่ดอลส์ โดยเป็นหุ่นยนต์หญิงมีขนาดเท่ากับตัวคนจริงๆ สร้างด้วยซิลิโคนและเรซิ่นอย่างดี รวมทั้งติดตั้งเซ็นเซอร์เสียงที่หน้าอกแต่ละข้าง ราคาตัวละ 2.4 แสนบาทด้านนางอีวอน เค. ฟูลไบรต์ นักเซ็กซ์วิทยา เจ้าของหนังสือด้านเซ็กซ์หลายเล่ม มีความเห็นว่า จะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งซื้อ เซ็กซ์บอต โดยเฉพาะชายที่ต้องการเติมเต็มแฟนตาซีที่ฝ่ายหญิงที่เป็นมนุษย์ปฏิเสธมองในแง่ดี ไม่แน่นะคะ การที่มีหุ่นยนต์มาช่วยเหลือแบบนี้ อาจทำให้สังคมเราเกิดอาชญากรรมน้อยลงก็ได้ค่ะ...