วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หุ่นยนต์เด็ก

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมานี้ คณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ได้นำหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะและท่าทางเหมือนเด็กเล็กๆ ออกมาแสดงให้กับคนทั่วไปได้ชม โดยทีมวิจัยดังกล่าวหวังว่า หุ่นยนต์นี้จะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงพัฒนาการต่างๆ ของเด็กได้ง่ายขึ้นทีมนักวิจัยได้ตั้งชื่อให้หุ่นยนต์นี้ว่า “CB2” (ซี บี สแควร์) หรือมีชื่อเต็มๆ ว่า “Child-robot with Biomimetic Body” โดยในช่วงแรกนี้ได้ถูกตั้งโปรแกรมให้มีกริยาท่าทางเหมือนเด็กที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 1-2 ปี ที่กำลังอยู่ในวัยเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ ชอบจ้องดูและให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่รอบตัว นอกจากนี้ยังชอบแสดงกริยาต่างๆ ที่เด็กชอบทำ เช่น ลงไปนอนกลิ้งบนพื้นห้อง เป็นต้น ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ของเด็กๆ ที่ช่วยสร้างความสดใสให้กับผู้ที่อยู่โดยรอบหุ่นยนต์ CB2 นี้ มีความสูง 130 เซนติเมตร หนัก 33 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยกระบอกสูบจำนวน 56 อัน ทำหน้าที่เหมือนกับกล้ามเนื้อของมนุษย์ มีกล้องวีดีโออยู่ที่ ตาทั้งสองข้าง และหูทั้งสองข้างประกอบด้วยไมโครโฟนซึ่งใช้ในการรับฟังเสียงต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีเซ็นเซอร์รับสัมผัสจำนวน 197 ชิ้น ฝังอยู่ทั่วร่างกาย ภายใต้ผิวหนังที่ทำมาจากซิลิโคนซึ่งมีลักษณะอ่อนนุ่มเหมือนกับผิวหนังจริงๆ ของมนุษย์ CB2ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตเพื่อให้สามารถรองรับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ที่เหมือนจริงได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนมาจับที่ไหล่ของ CB2 มันจะกระพริบตาแสดงความประหลาดใจ จะหยุดเคลื่อนไหวและหันไปมองคนที่มาสัมผัสมันทันที นอกจากนี้ถ้ามีของเล่นมาล่ออยู่ตรงหน้า มันจะพยายามเอื้อมมือไปเอาของเล่นนั้นๆ อย่างสุดความสามารถหุ่นยนต์ CB2 สามารถพูดโต้ตอบกับมนุษย์ได้ โดยใช้เสียงสังเคราะห์ที่เหมือนกับเสียงพูดของเด็กเล็กๆ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า ถ้าบรรจุซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้มันสามารถเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ลงไปใน CB2 เพิ่มเติม ก็จะทำให้สามารถสอนให้มันเดินและพูดได้ดีมากขึ้น เหมือนกับพัฒนาการของเด็กที่เติบโตขึ้นในแต่ละปี และในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ นักวิจัยจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น (Japan Science and Technology Agency: JST) ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยโอซาก้าในการพัฒนา CB2 นี้ จะทำการพัฒนาหุ่นยนต์เวอร์ชั่นใหม่ที่มีความสามารถมากขึ้นในเรื่องของ คำศัพท์ต่างๆ รวมทั้งมีความสามารถในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ เท่ากับเด็กอายุ 3 ปี ซึ่งหุ่นยนต์ลักษณะนี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถพัฒนาการสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ได้ดีขึ้น และยังช่วยให้นักวิจัยสามารถพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับสร้างความบันเทิงให้แก่มนุษย์ได้ดีมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น