วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มองหุ่นยนต์ไฮเทคกับโอกาสเด็กไทย จินตนาการที่ต้องฝันต่อ

จากของเล่นที่เคยถูกสร้างด้วยพลาสติก หรือยาง ที่วันนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยน และปรุงแต่งผ่าน การขับเคลื่อนด้วย นวัตกรรมทางด้านไอที เช่น หุ่นยนต์ที่เคยทำด้วยพลาสติก ได้ถูกพัฒนาจน สามารถเลียนแบบพฤติกรรม มนุษย์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้คนอาจจะคุ้นชิน กับการนำหุ่นยนต์มาเพื่อช่วยแบกรับ การทำงานอย่าง อาซิโม (Asimo) ที่บริษัทฮอนด้า จากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนา โดยได้ใช้เทคโนโลยีด้าน AI (Artificial Intelligence) เพื่อตอบสนองการใช้งาน หรือกระทั่งการสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robot) ที่มีรูปลักษณ์ตามแต่จินตนาการด้านการใช้งานนั้นๆ
แต่ใครจะคิดว่าของเล่นในประเทศไทยปัจจุบัน จะสามารถพัฒนาขึ้นมาตอบสนอง ด้านความบันเทิงได้ จนกระทั่ง บ.นิชิเวิร์ล จำกัด เริ่มนำหุ่นยนต์ที่มีโครงสร้างคล้ายมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิต มาเปิดตัวเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาไล่เรียงตั้งแต่ โรโบซาเปี้ยน (Robosapien) โรโบเพ็ท (Robopet) โรโบแรฟเตอร์ (Roboraptor) หรือล่าสุดที่เปิดตัวไป ไม่นานมานี้อย่าง โรโบซาเปี้ยน วีทู (Robosapien V2) ซึ่งหลายคนอาจจะเคยผ่าน ตาตามนิทรรศการด้านเทคโนโลยี โดยได้เห็นถึงกระแสการตอบรับอย่างล้นหลาม เนื่องจากหุ่นยนต์ถูกออกแบบให้มีลักษณะราวกับสิ่งมีชีวิตจริงๆ
นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด ให้ข้อมูลว่า จากการที่บริษัทได้นำหุ่นยนต์ ไฮเทคโรโบซาเปี้ยน เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยได้ถูกพัฒนาจากบริษัท Wowwee ในประเทศแคนาดา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีใหม่ จนกระทั่งสามารถคว้ารางวัล ทอยออฟเดอะเยียร์ (Toy of the Year) ก่อนจะทำยอด จำหน่ายได้ถึง 2-3 ล้านตัวทั่วโลกในระยะเวลา 2 ปี รวมถึงในประเทศไทยกว่า 2,000 ตัวนั้น นิชิเวิร์ลจึงได้พัฒนาหุ่นยนต์เทคโนโลยี ในเวอร์ชั่นต่อมาอีก 3 เวอร์ชั่น
“ตั้งแต่หุ่นยนต์โรโบซาเปี้ยนที่เคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ โดยสามารถตั้งโปรแกรมล่วงหน้าได้ 67 คำสั่ง อาทิ การหยิบ โยน เตะ ต่อย เต้นรำ กังฟู อื่นๆ ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของเทคโนโลยี ในของเล่น ต่อมาโรโบแรฟเตอร์ที่อาศัยธรรมชาติ ของสัตว์ล่าเหยื่อดึกดำบรรพ์ เป็นพฤติกรรมหลักที่แสดงอารมณ์ และสนองตอบสิ่งรอบข้าง อาทิ การตอบโต้ ล่าเหยื่อ ตื่นเต้น ระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ด้วยการเป็นของเล่นจึงต้องมีโหมด เพื่อความบันเทิง โดยใช้บุคลิกขี้เล่น เป็นมิตรเข้ามาช่วยเสริม รวมถึงเสริม ระบบอินฟราเรดวิชชั่น (Infrared Vision) เพื่อตรวจจับวัตถุบริเวณใกล้เคียง” กก.ผจก.บ.นิชิเวิร์ล จำกัด กล่าว
“ขณะที่หุ่นยนต์ตัวที่ 3 จะลดความ ก้าวร้าว ดุดันลงมา โดยเกิดจากแนวคิด ที่ต้องการให้ หุ่นยนต์เป็นสัตว์เลี้ยง โรโบเพ็ทที่มีรูปร่าง ละม้ายกับสุนัข จึงถูกพัฒนาออกมา ให้เป็นเพื่อนเล่น ด้วยความคล่องแคล่ว ความอยากรู้อยากเห็นที่มีบุคลิกคล้ายเด็ก รวมถึงการเพิ่มเทคโนโลยี ลงไปในของเล่นตัวนี้ อาทิ เซ็นเซอร์อินฟราเรดในสายตา การจับ การรับรู้วัตถุ เซ็นเซอร์เสียงที่ตอบสนองโดยขึ้นอยู่กับ อารมณ์ เซ็นเซอร์การเคลื่อนไหว การเพิ่มเสียงสัตว์ ด้วยระบบดิจิตอล เช่น เสียงเห่า คำราม ราง หอบ และโหมดการเฝ้าระวังโดยใช้สายตา และการจับเสียง รวมถึงการตอบสนองต่อคำสั่ง ของหุ่นยนต์ตัวล่าสุด โรโบซาเปี้ยน วีทูด้วย” นายสุทธิชัย เสริม
ทั้งนี้ หุ่นยนต์โรโบซาเปี้ยน วีทูที่เปิดตลาดไปเมื่อเดือนที่แล้วนั้น ได้พัฒนามาต่อยอดจากรุ่นแรก ด้วยการสร้างสรรค์ของมาร์ค ทิวเด้น นักฟิสิกส์ด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ของบริษัท Wowwee ประเทศแคนาดา ที่มีประสบการณ์ทำงานกับองค์การนาซ่าในห้องทดลอง ด้านการขับเคลื่อนยาน ห้องทดลองแห่งชาติ ลอส อลามอส ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประดิษฐ์หุ่นยนต์ไปเดินบนดาวอังคาร
กก.ผจก.บ.นิชิเวิร์ล ให้รายละเอียดอีกว่า หุ่นยนต์โรโบซาเปี้ยน วีทูจะมีรูปร่างที่สูงกว่า เวอร์ชั่นแรกกว่า เท่าตัว โดยมีความสูง 2 ฟุต หรือประมาณ 60 ซ.ม.ที่เต็มไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ อาทิ สามารถเดินด้วยเท้า 2 ข้าง ด้วยความเร็วหลายระดับ การหยิบจับสิ่งของที่กระชับแน่น โดยมีรายละเอียดตรงนิ้วมือที่ประณีต แกนศีรษะสามารถหมุนได้ทั้งซ้าย และขวา พร้อมไฟกระพริบสีฟ้าข้างในตา เซ็นเซอร์แสดงปฏิกิริยาตอบสนอง รวมถึงการพูดโต้ตอบเป็น ภาษามนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
“ในแง่ระบบการมองเห็นสี รับรู้เรื่องสี จะมีเซ็นเซอร์จดจำได้ทั้งสิ้น 4 สีคือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน ที่เป็นแม่สีทั้ง 3 สี รวมถึงโทนสีผิวมนุษย์ โดยอาศัยการมองเห็นด้วยระบบอินฟราเรด เนื่องจากการแยกแยะสีพิเศษ จะทำให้หุ่นยนต์เกิดอาการตอบสนองโดยอาจจะโบกมือทักทาย หรือเอื้อมมือมาเพื่อขอจับมือ นอกจากนี้ ยังสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้แบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีด้าน AI จับความเคลื่อนไหวของวัตถุ รวมถึงแสดงท่าทางการเคลื่อนไหว ได้มากกว่า 80 ท่าตามโปรแกรม” นายสุทธิชัย กล่าว
เมื่อมองกลับมาในเมืองไทย คงมีจำนวน ไม่น้อยที่เคย ได้ยินชื่อผู้คร่ำหวอด และคลุกคลีอยู่กับการพัฒนาหุ่นยนต์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการ หุ่นยนต์ภาคสนาม แห่ง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือฟีโบ้ (Institude of Field Robotic) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาการ ศึกษาระดับสูง และการวิจัยด้านระบบ อัตโนมัติหุ่นยนต์อุตสาหกรรม รวมไปถึงการให้บริการที่ปรึกษา กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยน และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
อาจารย์ชิตเล่าว่า จากสมัยก่อนที่วิทยาการด้านหุ่นยนต์ ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ แต่ได้นำมาคิด วิเคราะห์ดูว่า ประเทศไทยมีแรงงานจำนวนมาก และเป็นไปได้ไหม ที่จะสร้างหุ่นยนต์ ขึ้นมาเพื่อใช้แทนแรงงานคน เพราะมองเห็นความสำคัญว่าอีกไม่นาน หุ่นยนต์จะเป็นหนึ่งใน ห้าเทคโนโลยีที่กำหนดความเป็นไปของโลกมนุษย์ โดยหลายคนกำลังพูดถึง AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่หุ่นยนต์จะเริ่มคิดเอง นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าหุ่นยนต์ ที่นิชิเวิร์ลนำเข้ามาจะช่วยกระตุ้น ให้อุตสาหกรรมไทยเติบโต รวมถึงแสดงให้เห็นถึง การก้าวเข้าสู่โลก เทคโนโลยีอย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับ การ สร้างหุ่นยนต์มีอยู่ 2 แง่มุมคือ ตลาดในเมืองไทยยังค่อนข้างแคบ เนื่องจากมีผู้นำเข้าเพียงรายเดียว ซึ่งก็คือ บ.นิชิเวิร์ล จำกัด ทำให้ในเชิงการแข่งขัน ยังไม่สามารถขยายให้กว้างขึ้นได้ แม้เทคโนโลยีนี้ จะมียอดเติบโต 30 % จึงทำให้ส่งผลมาสู่อีก หนึ่งปัจจัยในด้านราคาที่ยังคงมีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโรโบซาเปี้ยน วีทูที่เปิดตัวไป ล่าสุดถูก ตั้งราคาไว้ที่ตัวละ 15,900 บาท ทำให้กำลังซื้อถูกแบ่งแยกออกอย่างชัดเจน
เหมือนอย่างที่กก.ผจก.บ.นิชิเวิร์ล ได้ให้ความเห็นตอนท้ายไว้อย่างฟังว่า “ถ้ามองเป็นของเล่นนับว่า ราคาอยู่ในระดับที่สูง แต่ถ้ามอง เป็นหุ่นยนต์ จะนับว่าเป็นหุ่นยนต์ ราคาถูก”
ดังนั้น เมื่อมองในแง่โอกาสแล้ว กลุ่มคนที่มีฐานะดีอาจ ไม่มีปัญหาต่อการ ครอบครอง หุ่นยนต์ไฮเทค แต่ในมุมกลับกันกับเด็ก ที่มีฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ก็คงจะต้องรอคอยโอกาส ได้สัมผัสและเป็นเจ้าของหุ่นยนต์ต่อไป.....




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น